เทคนิคการถ่าย พลุ By Mr.Pookie
วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม 2553 ผมได้มีโอกาสไปฝึกถ่ายรูปพลุในงานแสดงและประกวดพลุนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ดวงประทีปพราวนภา เทิดราชาราชินี บารมีศรีแผ่นดิน : Firework Queen Sirikit Ceremony Festival ถือเป็นโอกาสเหมาะที่ปีนึงมีเพียงไม่กี่ครั้ง และครั้งนี้ ก็จัดใกล้เพียงพัทยา
คนเยอะมาก และก็โชคดีที่คืนนั้นไม่มีฝนตกลงมา ถือว่าฟ้าเป็นใจ ให้นักท่องเที่ยวชื่นชมความงามของพลุอย่างจุใจตลอดสองชั่วโมง จุดที่ผมถ่ายรูปอยู่บนจุดชมวิวเมืองพัทยา ภาพทั้งหมดถ่ายด้วยเลนส์เทเล
พลุแต่ละชุดจุดสูงบ้างต่ำบ้าง สว่างบ้าง ต่างสีบ้าง แต่ผมจะเลือกถ่ายเฉพาะพลุที่ไม่ใช่สีขาวเพราะมันจะสว่างเกินไป มองช่องมองภาพเพื่อจัดองค์ประกอบไว้ก่อน จากนั้นก็รอจังหวะพลุเพื่อกดชัตเตอร์จากสายลั่น เราก็จะมองพลุโดยไม่ต้องมองช่องมองภาพได้
ภาพนี้ถูกคร็อปให้เป็นแนวตั้งเพราะองค์ประกอบจะดีกว่าเนื่องจากเป็น พลุกลุ่มใหญ่และจุดไล่ตามระดับความสูง เป็นการยิงชุดครั้งหนึ่งที่สวยตระการตาดี
พลุอีกแบบที่ยิงในแนวทะแยงจากศูนย์กลาง พลุแบบนี้ให้ความรู้สึกแบบเส้นเฉียง ถ้าจะให้ดีควรจะอยู่ในมุมด้านหน้าจึงจะเห็นว่ามันแผ่ แต่จากจุดที่อยู่มันเห็นการแผ่ได้เพียงเท่านี้
เพิ่มเติมเทคนิคการถ่ายภาพพลุมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงดังนี้ครับ
1.ขาตั้ง ต้องใช้เสมอ ตรวจสอบตำแหน่งการตั้งขาให้ มั่นคง ระวังคนที่ยืนอยู่รอบข้าง ระวังพื้นที่วางขาอย่าสั่นหรือขยับได้ โดยเฉพาะบนบพื้นไม้ ถ้ามีคนหรือตัวเราเองเหยียบอยู่ก็จะสั่น และพยายามอย่าตั้งแกนกลางขาตั้งให้สูงเนื่องจากจะทำให้สั่นไหวได้ง่าย
อ้อ....อีกสิ่งที่จะทำให้ภาพสั่นไหวคือ สายคล้องคอ หลังจากยึดตัวกล้องไว้บนขาตั้งกล้องแล้วควรเก็บสายไว้ดีดี อย่าให้มันแกว่งได้ ยิ่งถ้ามีลมมันจะเป็นตัวที่ทำให้ภาพสั่นไหว
2.สายลั่นชัตเตอร์ การมีสายลั่นชัตเตอร์ช่วยให้เรา ไม่ต้องมอง Viewfinder เพียงจัดองค์ประกอบตามความสูงของพลุ จากนั้นใช้ตาเปล่ามองเพื่อหาจังหวะกดชัตเตอร์ไปเรื่อยๆ หมั่นตรวจสอบองค์ประกอบของพลุในแต่ละช่วงเพราะพลุจะจุดสูงบ้างต่ำบ้างตลอด เวลา
อย่าใช้นิ้วกดชัตเตอร์โดยตรง เพราะโอกาสสั่นไหวสูงมาก
3.ใช้ค่า F แคบ (เลขมาก F 8 , F11.....) เพื่อให้ได้ชัดลึก จากภาพชุดนี้ใช้ตั้งแต่ F22 เพื่อคุมระยะชัดลึกเนื่องจากถ่ายจากระยะไกล และได้เส้นของพลุเป็นสายไม่ใหญ่จนเกินไป
4.Shutter B กะจังหวะกดชัตเตอร์ตั้งแต่พลุเริ่มยิง (ได้หางพลุ หรือจะเรียกว่าต้นดีล่ะ อันนี้ไม่รู้ว่าเค้าเรียกกันยังไง) และรอจนกว่าพลุจะแตกตัวจนสุด (ได้ดอกพลุ) จังหวะของเวลาในการเปิดชัตเตอร์ค้างไว้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แสง ฉากหลัง องค์ประกอบโดยรวมของสภาพแวดล้อม ยิ่งแสงมากเวลาเปิดชัตเตอร์ค้างไว้ก็ยิ่งน้อยลงให้สัมพันธ์กัน
กรณีมีพลุหลายดวงให้กะจังหวะการกดชัตเตอร์ตามความเหมาะสม อย่ารักพี่เสียดายน้อง เพราะไม่เช่นนั้น พลุจะตีกันมั่วไปหมด เหมือนบางภาพในอัลบั้มนี้
กรณีเปิดชัตเตอร์นานไปจะทำให้ปลายดอกพลุเริ่มตกเพราะเซ็นเซอร์ยังรับแสงอยู่
หลีกเลี่ยงการเปิดชัตเตอร์นานๆ เมื่อมีพลุสีขาวออกมาเพราะภาพจะโอเวอร์ได้
หลีกเลี่ยงการเปิดชัตเตอร์นานๆ กับพลุบางประเภท เช่น พลุลูกใหญ่มากๆ มีแสงเป็นจุดระยิบระยับ การเปิดชัตเตอร์นาน เมื่อปลายดอกพลุเริ่มตกลงจะเกิดเส้นสายของพลุจะพันกันกลายเป็นพุ่ม ไม่ใช่ดอก บางทีออกมาเป็นพุ่มเหมือนแมงกระพรุนเลย
5.โหมดโฟกัส ควรเป็นแมนนวลหรือตั้ง infinity เพราะการตั้ง Auto อาจจะเกิดความผิดพลาดจากการโฟกัสได้ง่าย เนื่องจากตำแหน่งพลุไม่แน่นอน
6.ISO100 เพื่อลด Noise เพราะยังไงก็มีขาตั้งกล้องอยู่แล้ว
7.สิ่งที่ไม่เป็นที่ปราถนาของผมคือ การถ่ายพลุที่เห็นแต่พลุกับฉากหลังดำๆ ควรหามุมที่มองเห็นวิวของสถานที่บ้าง เพื่อ ให้รู้ว่าเราถ่ายพลุในเหตุการณ์และสถานที่ใด อย่างกรณีนี้ผมอยากใช้เลนส์ไวด์ถ่ายภาพมากกว่า แต่จุดที่ตั้งกล้องอยู่ติดต้นไม้เลยทำได้แค่การใช้เลนส์เทเล ในสถานการณ์นี้ถ้าเราสามารถถ่ายให้เห็นอ่าวพัทยาก็จะทำให้ตรงกับวัตถุ ประสงค์ของงานเพราะจัดที่พัทยาครับ และอ่าวโค้งๆ ของพัทยาคือจุดขายที่ดีที่สุดและชัดเจนที่สุด
ทั้งหมดเป็นความคิดส่วนตัวที่ใช้ในการถ่ายภาพเพราะลองผิดลองถูก ไม่ใช่ทฤษฎีวิชาการ ขอให้ใช้พิจารณาตามความเหมาะสมนะครับ
เรื่อง/ภาพ Mr.PookieDate : August 14, 2010
Event : งานแสดงและประกวดพลุนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ดวงประทีปพราวนภา เทิดราชาราชินี บารมีศรีแผ่นดิน
Location : Pattaya beach, Chonburi, THAILAND
Style : Firework
GEARs :
CANON DSLR EOS 7D
Canon EF 70-200 mm F/2.8 L USM
Processed Raw files by Digital Professional Photo and Photoshop CS3
Mr.Pookie Photographer
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น