I'M Zwei

I'M Zwei
Welcome To blogger of Zwei

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ชนิดของกล้องถ่ายรูป

บทความน่ารู้ : เรื่องชนิดของกล้องถ่ายรูป

          กล้องถ่ายรูป นับเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาจาก "กล้อง ออบสคูร่า" (Obscura) ที่มีลักษณะเป็นกล้องมืด (Dark room) และได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ โดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ ซึ่งกล้องปัจจุบันนี้สามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้ ดังนี้       
          1. กล้องบ๊อกซ์ (Box Camera)
          เป็นกล้องที่ไม่มีกลไกสลับซับซ้อน มีขนาดรูรับแสงคงที่ อาจเป็น 8 หรือ 11 อันใดอันหนึ่ง และมีความเร็วชัตเตอร์เดียวปกติประมาณ 1/60 กล้องชนิดนี้ให้ระยะชัดตั้งแต่ 6 ฟุตขึ้นไปจนถึงไกลที่สุด ขนาดของฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้อาจเป็นฟิล์มขนาด 120, 127 และ 620 บางชนิดอาจใช้ฟิล์มขนาด 126 ก็ได้ อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ถ่ายรูปได้ดีในสภาพที่มีแสงเพียงพอ

                                             กล้องบ๊อกซ์ (Box Camera)

          2. กล้องพับ (Folding Camera)          เป็นกล้องที่มีห้องมืดชนิดพับระหว่างตัวกล้องกับเลนส์ สามารถพับ เห็บ หรือยืดออกมาได้ นอกจากนั้นกล้องชนิดนี้ยังเพิ่มขนาดของรูรับแสง และสามารถปรับเปลี่ยนความเร็วของชัตเตอร์ได้หลายระดับมากยิ่งขึ้น และอาจใช้กับไฟแวบอีกด้วย ฟิล์มที่ใช้อาจมีขนาดต่างๆ เช่น 120, 127 และ 620 เป็นต้น
                                                      กล้องพับ (Folding Camera)


          3. กล้องรีเฟล็กซ์ (Reflex Camera)
          กล้องชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

          3.1 แบบเลนส์คู่ (Twin Lens Reflex) บางครั้งอาจเรียกว่ากล้อง TLR ซึ่งเคยได้รับความนิยมมากในสมัยก่อน กล้องชนิดนี้มีเลนส์ 2 ตัว เลนส์ตัวบนทำหน้าที่สะท้อนภาพเข้าสู่ช่องมองภาพซึ่งมีกระจกเป็นตัวสะท้อน ทำให้ผู้ถ่ายรูมองเห็นวัตถุที่จะถ่ายได้ ส่วนเลนส์ตัวล่างทำหน้าที่รับแสง เพื่อส่องผ่านไปยังฟิล์ม กล้องรีเฟล็กซ์เลนส์คู่นี้ได้รวมเอาข้อดีของกล้องใหญ่ (View Camera) และกล้องเรนจ์ไฟเดอร์ (Range finder) เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะสามารถมองภาพจากข้างบนกล้องได้ โดยลดกล้องให้ต่ำลง แล้วมองภาพจากช่องมองได้สะดวกสบาย อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ก็มีข้อเสีย เนื่องจากใช้เลนส์ 2 ตัว ตั้งอยู่ในแนวดิ่งซึ่งกันและกัน ดังนั้นภาพที่มองเห็นจากเลนส์ตัวบน อาจจะไม่เหมือนกันกับภาพที่ถ่าย ซึ่งเรียกว่าเกิดอาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนของภาพ (Parallax) ยิ่งเป็นการถ่ายรูปใกล้ๆ บางส่วนของภาพจะถูกตัดออกไป แม้ว่าเวลามองที่ช่องมองภาพนั้นเป็นภาพสมบูรณ์ก็ตาม อีกประการหนึ่งภาพที่เห็นที่ช่องมองภาพจะกลับซ้ายเป็นขวาเสมอ นอกจากนี้ กล้องชนิดนี้ส่วนมากจะเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ จึงเป็นข้อเสียเปรียบเช่นกัน ฟิล์มที่ใช้อาจมีขนาด 120, 220 หรือ 35 มม. ก็ได้
                                                     
                                                        แบบเลนส์คู่ (Twin Lens Reflex)


          3.2 แบบเลนส์เดี่ยว (Single Len Reflex) หรือเรียกว่า SLR ซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะสะดวกและง่ายต่อการประกอบภาพ นอกจากนั้น ยังมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ร่วมกันได้มากมาย กล้องชนิดนี้สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ และไม่มีอาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนภาพ (Parallax) เลย เพราะใช้เลนส์ตัวเดียวทำหน้าที่ทั้งมองภาพ หาระยะชัด และบันทึกภาพ อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ก็มีข้อเสียเปรียบ คือ อาจจะชำรุดได้ง่ายเพราะการกระดกขึ้นลง ของกระจก 45 องศา อีกประการหนึ่ง เมื่อกดชัตเตอร์จะมีเสียงดังมาก อาจทำให้เกิดการรบกวนได้ โดยเฉพาะถ้านำไปถ่ายรูปสัตว์ อาจทำให้สัตรว์ตื่นตระหนกตกใจได้ นอกจากนั้นเมื่อถ่ายรูปในที่ๆ มีแสงน้อย อาจทำให้การมองภาพที่ช่องมองไม่ชัดเจน เพราะมีการสะท้อนหลายครั้งที่กระจกและปริซึมภายในตัวกล้อง ทำให้ความเข้มของแสงลดลงไปได้ กล้องรีเฟลกซ์เลนส์เดี่ยวส่วนมากใช้ระบบชัตเตอร์ม่านจึงทำให้ใช้ความเร็วของ ชัตเตอร์ได้สูงมาก การเปลี่ยนขนาดของรูรับแสงก็มีมาก ฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้มีเบอร์ 135, 126, 120, 220 และ 110 ซึ่งสนองความต้องการของผู้ใช้ได้มาก          


                                                  แบบเลนส์เดี่ยว (Single Len Reflex)


          4. กล้องเล็ก (Miniature Camera)
          กล้องเล็ก (Miniature Camera) หรือ กล้องวิวไฟเดอร์ (View finder) บางคนก็เรียกว่า เรนจ์ไฟเดอร์ (Range Finder) หรือเรียกว่า กล้อง 35 มม. มาตรฐาน (35 mm. Standard Camera) เพราะใช้กับฟิล์มขนาดมาตรฐาน คือ 35 มม. กล้องชนิดนี้เหมาะที่สุดสำหรับนักถ่ายภาพสมัครเล่น เพราะออกแบบเพื่อให้สะดวกสบายในการจับถือ มีทั้งชนิดที่ต้องปรับแต่ง และไม่ปรับแต่งความชัด ความเร็วชัดเตอร์และขนาดของรูรับแสง กล้องชนิดนี้มีลักษณะกระทัดรัด ใช้ง่าย ราคาไม่แพงนัก อย่างไรก็ตามก็มีข้อเสียคือภาพถ่ายอาจเกิดอาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนของ ภาพ (Parallax) ได้ถ้าถ่ายรูปใกล้กว่า 3 ฟุต เนื่องจากหน้าต่างหาระยะชัดของภาพตั้งอยู่คนละแห่งกับเลนส์ คือจะอยู่เหนือเลนส์ถ่ายรูปเล็กน้อย ในปัจจุบันกล้องชนิดนี้ได้พัฒนาให้เปลี่ยนเลนส์ได้ และมีอุปกรณ์อื่นๆ ประกอบมากมายจึงทำให้มีผู้นิยมกล้องชนิดนี้อยู่พอสมควร
                                                     กล้องเล็ก (Miniature Camera)

          5. กล้องเล็กพิเศษ (Ultra-Miniature Camera)
          กล้องเล็กพิเศษ (Ultra-Miniature Camera) หรือกล้องนักสืบ เป็นกล้องที่มีน้ำหนักเบามาก กะทัดรัด มีขนาดเล็ก สามารถพกติดตัวไปได้สะดวกสบาย และสามารถแอบซ่อนเพื่อบันทึกภาพในกรณีที่ไม่ให้ผู้ถูกถ่ายรูปสังเกตได้ กล้องชนิดนี้ปรับหน้ากล้องโดยอัตโนมัติ มีไฟแวบพร้อมในตัวกล้อง ใช้ฟิล์ม 16 มม. และกลักเบอร์ 110
                                               กล้องเล็กพิเศษ (Ultra-Miniature Camera)
          6. กล้องหนังสือพิมพ์ (Press Camera)          เป็นกล้องที่ออกแบบใช้กับงานด้านหนังสือพิมพ์ ตัวกล้องมีขนาดใหญ่ ส่วนประกอบของกล้องคล้ายคลึงกับกล้องพับ คือมีเบลโล (Bellow) สามารถปรับยืดย่นย่อได้ตามต้องการ ปกติกล้องชนิดนี้ใช้กับฟิล์ม 120 หรือฟิล์มแผ่นขนาด 2 1/4 x 3 1/4 นิ้ว และ 4 x 5 เนื่องจากกล้องมีน้ำหนักมาก ดังนั้น นักข่าวหนังสือพิมพ์และนิตยสารในปัจจุบันจึงหันมาใช้กล้องแบบสะท้อนเลนส์ เดี่ยวแทน

                                                 กล้องหนังสือพิมพ์ (Press Camera)


          7. กล้องใหญ่ (Studio Camera)
          บางครั้งเรียกว่ากล้องวิว (View Camera) เป็นกล้องที่นิยมใช้ตามร้านถ่ายรูปเพื่อธุรกิจการค้า กล้องชนิดนี้มีขนาดใหญ่โตมีน้ำหนักมากจึงไม่เหมาะที่จะนำไปใช้งานภายนอกห้อง ถ่ายรูป และในการใช้กล้องจำเป็นต้องมีขาตั้ง (Tripod) รองรับตัวกล้อง ฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้เป็นฟิล์มแผ่นมีขนาดต่างๆ เช่น 2 x 3 นิ้ว 5 x 7 นิ้ว 8 x 10 นิ้ว และ 11 x 14 นิ้ว เมื่อถ่ายรูปเสร็จสามารถถอดฟิล์มออกได้ทันที ข้อดีของกล้องชนิดนี้ คือ จะไม่เกิดอาการผิดเพี้ยนจากการตัดส่วนของภาพ (Parallax) และยังสามารถมองเห็นภาพที่ช่องมองได้อย่างดี เพราะที่มองมีขนาดใหญ่ ทำให้เห็นรายละเอียดของภาพที่จะบันทึกนั้นได้ดี เนื่องจากมีกระจกขยายอันเป็นส่วนประกอบในช่องมองภาพ นอกจากนั้นยังสามารถปรับมุมของภาพได้ตามต้องการ อย่างไรก็ตามกล้องชนิดนี้ก็มีข้อเสียเปรียบ คือ ภาพที่เกิดขึ้นที่ช่องมองภาพนั้นจะมีลักษณะหัวกลับและกลับซ้ายขวา อีกทั้งภาพจะไม่ชัดเจน ดังนั้นผู้ถ่ายรูปต้องใช้ผ้าสีดำคลุมข้างหลังกล้องบนช่องมองภาพ และคลุมศีรษะผู้ใช้ให้สามารถมองภาพได้ชัดเจนในขณะปรับความคมชัด
 
                                                          กล้องใหญ่ (Studio Camera)


          8. กล้องถ่ายรูปที่สร้างขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ
          8.1 กล้องถ่ายรูปแบบสเตอริโอ (Stereo Camera) หรือเรียกว่ากล้องถ่ายรูปสามมิติ (Three Dimension Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบมาเพื่อถ่ายรูปสามมิติ ในตัวกล้องจะมีเลนส์ 2 ตัว เมื่อถ่ายรูปจะได้ 2 ภาพ ซึ่งภาพแรกเป็นภาพที่ตาข้างขวามองเห็น และภาพที่ 2 เป็นภาพที่ตาข้างซ้ายมองเห็น ดังนั้นภาพทั้งสองจึงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ในเวลาที่ดูภาพลักษณะนี้ ต้องใช้เครื่องดูภาพพิเศษ จึงจะทำให้เห็นภาพ 3 มิติได้อย่างชัดเจน
 
กล้องถ่ายรูปแบบสเตอริโอ (Stereo Camera)


          8.2 กล้องถ่ายรูปโพลารอยด์ (Polaroid Camera) เป็นกล้องถ่ายรูปที่เมื่อถ่ายเสร็จจะได้ภาพทันที เพราะมีกระบวนการล้างอัดอยู่ในตัวฟิล์ม สร้างภาพภายในเวลาเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น ภาพที่จะเป็นภาพโฟสิติฟ (Positive) กล้องชนิดนี้เหมาะในการใช้งานที่ต้องการความรวดเร็วรีบด่วน และเพื่องานบางอย่างเท่านั้น ข้อเสียก็คือฟิล์มที่ใช้กับกล้องชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูง และภาพที่ได้ไม่มีความคงทนเก็บไว้ได้ไม่นานเหมือนขบวนการถ่ายรูปทั่วๆ ไป
                                             กล้องถ่ายรูปโพลารอยด์ (Polaroid Camera)

          8.3 กล้องถ่ายรูปทางอากาศ (Aerial Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบมาใช้งานเฉพาะการถ่ายรูปทางอากาศเท่านั้น มีน้ำหนักมาก ใช้ติดตั้งกับเครื่องบิน หรือยานอวกาศเพื่อการถ่ายรูปสำรวจหรือทำแผนที่ต่างๆ ส่วนประกอบของกล้องชนิดนี้ถูกออกแบบพิเศษมาเพื่อใช้งานเฉพาะ จึงไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในงานทั่วๆ ไปได้

                                                 กล้องถ่ายรูปทางอากาศ (Aerial Camera)


          8.4 กล้องถ่ายรูปใต้น้ำ (Under Water Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบมาเพื่อใช้ถ่ายรูปใต้น้ำโดยเฉพาะ ตัวกล้องบรรจุอยู่ในกล่องที่แข็งแรงกันน้ำเข้า และทนต่อแรงดันของน้ำ การควบคุมเพื่อให้กล้องทำงานนั้นมีปุ่มควบคุมอยู่ภายนอกกล่องบรรจุ

กล้องถ่ายรูปใต้น้ำ (Under Water Camera)
          8.5 กล้องถ่ายรูปจากกล้องจุลทรรศน์ (Photomicrographic Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบพิเศษ สำหรับงานที่ต้องการถ่ายรูปขยายตั้งแต่ 30:1 ถึง 1000:1 ตัวกล้องจะต่อเข้ากับกล้องจุลทรรศน์ สามารถถ่ายรูปได้ตามต้องการ

กล้องถ่ายรูปจากกล้องจุลทรรศน์ (Photomicrographic Camera)
          8.6 กล้องรีโปร (Repro-Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบเพื่อใช้กับงานการพิมพ์เพื่อถ่ายรูปลายเส้น ภาพแยกสีและพวกฮาลัฟโทนต่างๆ ซึ่งวัสดุต้นแบบอาจเป็นพวกภาพถ่ายหรือภาพวาดก็ได้หากแต่ต้องมีลักษณะเป็น แผ่นเรียบ

                                                      กล้องรีโปร (Repro-Camera)


          8.7 กล้องถ่ายรูปความไวสูง (High Speed Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับงานถ่ายรูปนิ่ง ที่ต้องการถ่ายวัตถุที่เคลื่อนที่อย่างเร็วมาก ซึ่งกล้องธรรมดาไม่สามารถถ่ายได้ กล้องชนิดนี้มีความไวของชัตเตอร์สูงมาก อาจใช้ถ่ายรูปลูกปืนหรือลูกธนูที่กำลังเข้าหาเป้าได้

                                                   กล้องถ่ายรูปความไวสูง (High Speed Camera)


          8.8 กล้องถ่ายรูปสำหรับผลิตภาพขนาดเล็ก (Microphotographic Camera) เป็นกล้องถ่ายรูปที่ออกแบบมาเพื่อใช้ถ่ายรูปขนาดไม่เล็กกว่า 1/10 ของวัตถุต้นฉบับ ดังนั้นจึงเหมาะที่จะนำมาถ่ายรูปวาดวงจรอิเล็กโทรนิคและวงจรไฟฟ้าต่าง ๆ

กล้องถ่ายรูปสำหรับผลิตภาพขนาดเล็ก (Microphotographic Camera)

         8.9 กล้องพาโนรามา (Panoramic Camera) เป็นกล้องที่ออกแบบเพื่อถ่ายรูปที่มีมุมของวิวกว้างประมาณเกือบ 140 องศา โดยที่สัดส่วนของภาพที่ได้ไม่ผิดเพี้ยนเหมือนการใช้เลนส์ตาปลา กล้องชนิดนี้นำมาใช้ถ่ายรูปหมู่ที่มีจำนวนคนมากๆ นั่งเรียงแถวกัน ซึ่งกล้องธรรมดาไม่สามารถบันทึกภาพให้มีสัดส่วนเหมือนจริงได้ การทำงานของกล้องชนิดนี้มีเลนส์ที่หมุนรอบแนวดิ่ง โดยแสงจะผ่านเลนส์ แล้วหักเหผ่านช่องแคบที่หมุนตามเลนส์ไปตกลงบนฟิล์มที่มีลักษณะโค้งอยู่ด้าน หลังของกล้อง ทำให้การบันทึกภาพออกมาดูเป็นภาพที่มีลักษณะยาวในแนวระดับ
                                                       กล้องพาโนรามา (Panoramic Camera)

          8.10 กล้องถ่ายรูปแบบจาน (Disk) เป็นกล้องถ่ายรูปที่บันทึกภาพลงบนแผ่นแม่เหล็กแทนการบันทึกลงบนฟิล์มถ่ายรูป เมื่อต้องการดูภาพก็สอดแผ่นแม่เหล็กลงในเครื่อง จะทำให้เห็นภาพบนจอโทรทัศน์ ซึ่งเป็นภาพนิ่งและสามารถพิมพ์เป็นแผ่นได้ นอกจากนี้กล้องชนิดนี้ยังนำไปใช้กับการส่งภาพถ่ายเหตุการณ์ จากจุดหนึ่งเข้ายังโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์ภาพข่าวลงในหนังสือพิมพ์ โดยส่งภาพไปตามสายโทรศัพท์ได้ ในปัจจุบันนี้ผู้ผลิตได้คิดค้นและออกแบบให้กล้องถ่ายรูปมีลักษณะการใช้ง่าย สะดวกสบาย และใช้ได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้อาจไม่ต้องมีความรู้ในด้านการถ่ายภาพมากมาย ก็สามารถใช้กล้องได้อย่างดีบันทึกภาพได้ตามต้องการและภาพมีคุณภาพ


                                                กล้องถ่ายรูปแบบจาน (Disk Camera)


 9. กล้องดิจิตอล (Digital camera) 

       เมื่อเทคโนโลยีการถ่ายภาพได้พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมกันนั้นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ก็มีความก้าวหน้าเช่นกัน จึงได้มีผู้คิดค้นกล้องถ่ายภาพที่สามารถใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า กล้องดิจิตอล (Digital Camera) ที่ถ่ายภาพโดยไม่ต้องใช้ฟิล์ม ไม่ต้องผ่านกระบวนการล้าง อัด ขยายภาพ การบันทึกภาพจะบันทึกในรูปแบบของหน่วยความจำแบบดิจิตอล หรือบันทึกลงในแผ่นดิสก์เก็ต หรือ ซีดีรอม บางรุ่นสามารถบันทึกภาพได้ละเอียดถึง 6 ล้าน Pixel ช่องมองภาพจะเป็นจอภาพแบบ LCD หรือจอคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก สามารถพิมพ์ภาพออกทางเครื่องพิมพ์ (Printer) สามารถผลิตได้ทั้งภาพสี ภาพขาว ดำ สไลด์สี บางรุ่นสามารถบันทึกวิดีทัศน์ (Video) ได้ในตัว และสามารถแสดงผลทางจอภาพ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ตกแต่งและสร้างสรรค์ภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก เช่น Adobe PhotoShop สามารถเผยแพร่ภาพทางอินเทอร์เน็ต หรือส่งทาง Email ได้ ปัจจุบันกล้องชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก บริษัทผลิตกล้องถ่ายภาพหลายบริษัทได้หันมาพัฒนาเทคโนโลยีกล้องดิจิตอลมากขึ้น


                                                    กล้องดิจิตอล (Digital Camera)


          ดังนั้นกล้องจึงทำงานแบบอัตโนมัติในการปรับหน้ากล้องปรับระดับชัตเตอร์ตาม สภาพของแสงที่ถ่าย เช่น กล้องโกดัก อินสตาเมติด (Kodak Instamatic) กล้องอักฟา แรบปิด (Agfa Rapid) Argus, Minox BL, Yashica Atoron และอีกหลายๆ ยี่ห้อให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ถ่ายรูปตามความต้องการ กล้องอัตโนมัติบางชนิดสามารถบอกวัน เดือน ปี หรือแม้กระทั่งเวลาในการบันทึกภาพนั้นๆ ด้วย กล้องชนิดนี้เหมาะมากสำหรับการนำมาใช้ เพื่อเก็บข้อมูลทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นอกจากจะบอกรายละเอียดต่างๆ ดังกล่าวแล้วยังใช้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ถ้าแสงไม่พอที่จะพอที่จะถ่ายรูปก็สามารถเปิดไฟแฟลชได้โดยอัตโนมัติอีกด้วย
          ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีประเภทชิป (chip) มาใช้แทนฟิล์มถ่ายภาพและได้ภาพประเภทดิจิตอล (Digital) ที่สามารถโหลด (load) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วพิมพ์ (print) หรือนำไปใช้กับงานสื่อประสม (Multimedia) อื่นๆ ได้



ขอบคุณที่มา : wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น